วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มูลนิธิอานันทมหิดล


มูลนิธิอานันทมหิดล
 ความเป็นมา
มูลนิธิอานันทมหิดลนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ให้ตั้งขึ้น ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเข้าพระราชหฤทัยดีว่า ในการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญวิชาการขั้นสูงสาขาต่างๆ วิธีการหนึ่ง
จะสร้างผู้เชี่ยวชาญคือ การส่งผู้มีความสามารถออกไปศึกษาหาความรู้ ณ ประเทศที่เป็นแหล่งวิทยาการแขนงต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ จึงทรงพระราชดำริที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาผู้แสดงความสามารถยอดเยี่ยม ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาความรู้ให้ถึงขั้นสูงสุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยทรงพระราชดำริว่าเมื่อได้ศึกษาถึงขั้นสูงสุดแล้ว จะเห็นว่าศาสตร์ต่างๆ นั้นมีความสัมพันธ์กัน และสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และประเทศชาติได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งทุนเพื่อการนี้เมื่อ พ.ศ. 2498 พระราชทานนามทุนว่า "อานันทมหิดล" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
การพระราชทานทุนนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์เป็นประเดิม ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท แห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และสนพระทัยการสาธารณสุขของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ได้พระราชทานทุนแก่นักศึกษาแพทย์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ จนสำเร็จกลับมาทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองมาแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเอง ก็ทรงสนพระราชหฤทัยในการส่งเสริมกิจการแพทย์ของไทยเป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่เสด็จนิวัติพระนครครั้งที่สอง ได้เสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่ผู้จบหลักสูตรแพทย์พยาบาล ณ ศิริราชพยาบาลเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 ทรงมีพระราชปรารภว่า มีพระราชประสงค์ให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน เพราะในขณะนั้น มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์รับนักศึกษาแพทย์ได้เพียงปีละ 50 คนเท่านั้น เพื่อสนองพระราชปรารภ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อขยายการศึกษาแพทย์ศาสตร์ให้สามารถรับนักศึกษาได้ประมาณปีละ 200 คน ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ได้ตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ของสภากาชาดไทยเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่ขึ้น เพราะคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาลมีสถานที่จำกัด คณะแพทย์ศาสตร์แห่งที่สอง จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเปิดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาปีแรกจำนวน 67 คน ได้ภายในหนึ่งปีหลังจากที่ทรงมีพระราชปรารภดังกล่าวคือ เมื่อปีการศึกษา 2490
เมื่อกิจการของทุน "อานันทมหิดล" ดำเนินการได้ผลดีมาเป็นเวลา 4 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งทุน "อานันทมหิดล" เป็น "มูลนิธิอานันทมหิดล" เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 และเมื่อความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่นๆ มีเพิ่มขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ปัจจุบันการพระราชทานทุน แยกเป็นแผนกต่างๆ ดังนี้
1.
แผนกแพทยศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อแรกตั้งทุน
2.
แผนกวิทยาศาสตร์ (รวมแผนกวิศวกรรมศาสตร์ด้วย) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2502 และเปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514
3.
แผนกวิศวกรรมศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้แยกแผนกวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเคยรวมอยู่ในแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ออกเป็นแผนกต่างหากตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2541
4.
แผนกเกษตรศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2504
5.
แผนกธรรมศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506
6.
แผนกอักษรศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2506
7.
แผนกทันตแพทย์ศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2535
8.
แผนกสัตวแพทยศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2537
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยการดำเนินงานของมูลนิธิฯ อย่างใกล้ชิดตลอดมา มีพระบรมราชวินิจฉัยทั้งในเรื่องของการคัดเลือกผู้สมควรได้รับพระราชทานทุน และการดำเนินการด้านต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนและเพิ่มสาขาวิชาที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุน ครั้งหลังสุดนี้ เมื่อวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะแยกเป็นเด็ดขาด ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แยกออกเป็นแผนกหนึ่งต่างหาก จากเดิมที่รวมอยู่ในแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังทรงพิจารณาการศึกษาในสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยด้วยว่า สาขาวิชาใดในสถาบันใดได้คุณภาพ ผลิตผู้มีความรู้ความสามารถที่จะไปศึกษาต่อได้ จึงจะมีสิทธิรับการคัดเลือกเข้ารับพระราชทานทุน
ก่อนที่จะออกไปศึกษาในต่างประเทศ คณะกรรมการประจำแผนกจะนำผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับพระราชทานพระบรมราโชวาท และเมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว ในโอกาสแรกที่กลับมาถึงประเทศไทย จะนำเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลรายงานทุกคน
วัตถุประสงค์
1.
ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาชั้นสูง ด้วยการพระราชทานทุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในประเทศไทย ผู้มีคุณสมบัติดีเด่นทั้งด้านวิชาการและคุณธรรม ไปศึกษาต่อในสาขาวิชาอันจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ แล้วนำกลับมาถ่ายทอดแก่ชนรุ่นหลัง ตลอดจนช่วยในการพัฒนาประเทศ ผู้ได้รับพระราชทานทุนควรกลับมาทำงานรับใช้ชาติบ้านเมือง แต่ไม่ผูกมัดว่าต้องรับราชการ
2.
พระราชทานทุนช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ หรือเพื่อค้นคว้าแก่ผู้ได้รับพระราชทานทุนที่สำเร็จการศึกษากลับมาทำงานในประเทศไทย ที่มีความสามารถดีเยี่ยม มีคุณธรรมและความประพฤติดีเป็นกรณีๆ ไป
3.
จัดตั้งสถาบันค้นคว้าทางวิชาการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับพระราชทานทุนที่ สำเร็จการศึกษาและกลับมาทำงานในประเทศไทย ได้ทำการค้นคว้าทางวิชาการต่อไป
4.
ร่วมมือกับสถาบันอื่นที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน เพื่อให้การสนับสนุนทางวิชาการกว้างขวางทั่วถึงยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น