วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กำเนิดโครงการหลวง

กำเนิดโครงการหลวง
         วันที่  ๒๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๑๒  เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปถึงหมู่บ้านชาวเขา  จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก
          การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น  ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นหมูที่ชาวเขาเลี้ยงไว้ทั้งมีขนาดเล็กและพุงลากดิน ซึ่งได้ทรงรับทราบว่าหมูเหล่านี้ไม่โตไปกว่านี้อีกแล้วและต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเลี้ยงได้ตัวขนาดนี้เนื่องจากทรงเห็นว่าหมูมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของชาวเขาโดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม
         ประเพณีอันสืบเนื่องต่อกันมาจวบจนถึงปัจจุบัน  อาทิ  พิธีการแต่งงาน  การเลี้ยงผีในยามเจ็บไข้ฯ  จึงได้ทรงพระราชทานลูกหมูตัวผู้พันธุ์ดีจำนวน  ๓  ตัว  พร้อมพันธุ์พืชอาหารสัตว์เพื่อเพาะปลูกให้แก่ชาวเขา 
ได้แก่  มันสำปะหลัง  และอื่นๆ
 
          จึงนับได้ว่าวันที่  ๒๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๑๒  เป็นวันแห่งการเริ่มต้นการทรงงานทางด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงภาคเหนือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
          ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพื้นที่ต่างๆ  ของจังหวัดภาคเหนือก็ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวเขามีวิถีการดำรงชีพที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างไม่เปลี่ยนแปลงนับพันปี  คือการเร่ร่อนไปอาศัยตามเทือกเขาสูงและอยู่ห่างไกลจากสังคมเมือง  ซึ่งถึงแม้ว่าวิถีการดำรงชีพของเขาเหล่านั้นจะเป็นไปตามธรรมชาติก็ตาม  แต่กลับไม่เป็นผลดีทั้งต่อตัวของชาวเขาเองและภูมิภาคอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย  ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน  ทำการเกษตรแบบยังชีพ  สุขภาพอนามัยและการศึกษาถูกละเลยขาดความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับการบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน  น้ำ  และป่าไม้  ทำให้ชาวเขาใช้วิธีถากถาง  ตัดโค่นทำลายป่าไม้และเผาป่า  ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือที่หล่อเลี้ยงชีวิตและการเกษตรกรรมของผู้คนในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางทั้งนี้ก็เพื่อทำไร่เลื่อนลอยและเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่างๆ  อันเป็นเหตุสำคัญที่จะนำความเสียหาย  ความแห้งแล้งไปสู่ส่วนอื่น  ของประเทศ  เพียงเพราะชาวเขาต้องการพื้นที่สำหรับปลูกพืชไร่ต่างๆ  และที่สำคัญคือการปลูกฝิ่น  ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของชาวเขาซึ่งเป็นยาเสพติดที่มอมเมา  และเป็นตัวบ่อนทำลายเยาวชนของชาติอันเป็นปัญหาที่ร้ายแรงของประเทศและของโลกที่ยากต่อการเข้าไปควบคุม  และยากต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขาเหล่านั้น  ด้วยชาวเขาทั้งหลายนั้นมิได้รับรู้ถึงความเป็นชาติไทยเป็นคนไทย  และกฎหมายบ้านเมืองของประเทศที่ตนอาศัยอยู่นั่นเอง
          นอกจากนี้ก็ได้ทรงทราบว่าชาวเขามีรายได้จากการจำหน่ายท้อพันธุ์พื้นเมืองส่วนหนึ่ง  กับรายได้จากการปลูกฝิ่นและเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นท้อพันธุ์พื้นเมืองมีผลขนาดเล็กก็ทรงมีพระราชดำริให้หาวิธีการติดตาต่อกิ่งกับท้อต่างประเทศพันธุ์ใหม่ๆ  ที่จะให้ได้ผลขนาดใหญ่  รสชาติหวานฉ่ำเพื่อจะได้มีรายได้ที่สูงไม่แพ้ฝิ่น
          หม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้ทรงบันทึกเรื่องลูกท้อไว้ในหนังสือ  “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง”  ว่า
          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถพระที่นั่งไปบ้านแม้วดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์  และได้ทอดพระเนตรต้นท้อ  (peach)  ที่แม้วเอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อกับต้นตอพื้นเมืองตามโครงการแต่ปีก่อนและมีรับสั่งถามเจ้าของว่าปลูกฝิ่นได้เงินเท่าไร  และเก็บท้อพื้นเมือง  (ลูกเล็ก)  ขายได้กี่บาท  ก็ทรงทราบว่าฝิ่นกับท้อพื้นเมืองทำเงินให้เกษตรกรเท่าๆ กัน
 แต่คนอื่นเขาคิดกันอย่างไร
          เขาคิดว่า  ฝิ่นทำให้ผู้ปลูกรวยอย่างมหาศาล  จึงเอาอย่างชาวต่างประเทศ  เรียกบริเวณที่ปลูกว่า  “สามเหลี่ยมทองคำ”  ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดและหาพืชอื่นปลูกแทนฝิ่นก็ยังใช้ชื่อนี้อยู่  ทำให้ผู้ที่ใช้ความคิดเพียงนิดหน่อยแน่ใจว่าไม่มีอะไรจะแทนฝิ่นได้
          ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดว่า  ถ้าท้อลูกนิดๆ  ยังทำเงินให้เกษตรกรได้ดีเท่าฝิ่นแล้วเราก็ควรจะเปลี่ยนยอดให้ออกลูกมาเป็นท้อใหญ่ๆ  หวานฉ่ำ  สีชมพูเรื่อดังกับแก้มสาวในนิทานจีน  เมื่อรายได้จากท้อและผลไม้อื่นสูงกว่าฝิ่นแล้ว  ฝิ่นก็จะสาบสูญไปเองตามธรรมชาติ  ไม้ต้องใช้กำลังผลักดันแต่อย่างใด”
          จากที่ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงสภาพความเป็นจริงและทรงเข้าพระราชหฤทัยในปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร  จึงทรงโปรดเกล้าฯ  ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์เมื่อปี  ๒๕๑๒  โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากราษฎร  รัฐบาลไทย  และรัฐบาลต่างประเทศร่วมกัน  โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชาวเขาไทยภูเขาขององค์การสหประชาชาติ  โดยในระยะเริ่มแรกนั้นมีหม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการหลวง  และได้ตั้งเป้าหมายของโครงการไว้  ดังนี้
         ๑. ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม
         ๒. ช่วยชาวเขาโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  คือ  ต้นน้ำลำธาร
         ๓. กำจัดการปลูกฝิ่น
         ๔. รักษาดินและใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง  คือให้ป่าอยู่ในส่วนที่ควรเป็นป่า  และทำไร่สวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก  อย่าให้ส่วนทั้งสองนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน
         ๕. ผลิตพืชผลเพื่อเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ
 มาบัดนี้  “มูลนิธิโครงการหลวง”  ได้ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่  ๕  จังหวัด  ทางภาคเหนือ  ได้แก่  จังหวัดเชียงใหม่  เชียงราย  ลำพูน  แม่ฮ่องสอน  และพะเยา  ซึ่งประกอบด้วยสถานีวิจัย  ๔  แห่ง  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  ๓๔  แห่ง  และมีหมู่บ้านชาวเขาในความดูแลส่งเสริม  ๒๙๕  หมู่บ้าน  ประชากรเป้าหมายทั้งคนไทยและชาวเขารวม  ๑๔,๑๐๙  ครอบครัว  คิดเป็นจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น  ๗๓,๔๒๕  คน
         ทั้งนี้ “มูลนิธิโครงการหลวง”  ได้ดำเนินการสนองตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะ  “ช่วยชาวเขาให้ช่วยตนเองในการปลูกพืชที่มีประโยชน์และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้น”  และได้แบ่งงานเป็น  ๓  ลักษณะ  ดังนี้
         ๑. งานวิจัย
         ๒. งานพัฒนา
         ๓. งานการตลาด
งานวิจัย
          ในระยะแรกที่มูลนิธิโครงการหลวงเริ่มดำเนินงานนั้น  สำหรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกพืชเมืองหนาวในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมาก  มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้ดำเนินงานด้านการทดลองค้นคว้า  และสนับสนุนการวิจัยพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ  โดยได้พัฒนาและเผยแพร่ผลของการศึกษาวิจัยให้แก่เกษตรกรในโครงการหลวงนำไปเพาะปลูก  ทั้งนี้  โดยมุ่งเน้นเพื่อสนองความต้องการของตลาดทดแทนการปลูกฝิ่น  และปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีสถานีวิจัยหลัก  ๔  สถานี  คือ
         ๑.  สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่
                  เป็นสถานีวิจัยแห่งแรก  และดำเนินงานการวิจัยไม้ผลเมืองหนาว  ผักเมืองหนาว  พืชไร่  ไม้โตเร็ว  ไผ่ชนิดต่างๆ  และด้านป่าไม้  รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกอบรมและขยายพันธุ์
         ๒.  สถานีเกษตรหลวงปางดะ  อำเภอสะเมิง  จังหวัดเชียงใหม่
                   ดำเนินงานการวิจัยไม้ผลเมืองหนาว  ผักเมืองหนาว  ไม้ดอกเมืองหนาว ถั่วชนิดต่างๆ และงานวิจัยด้านป่าไม้
         ๓.  สถานีโครงการหลวงอินทนนท์  อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่
                  ดำเนินงานการวิจัยไม้ดอกเมืองหนาว  และที่สถานีย่อยขุนห้วยแห้งได้ทดลองปลูกไม้ผล  ทับทิม  มะเดื่อหวาน  ฝรั่งคั้นน้ำ  และองุ่นไม่มีเมล็ด ฯ
         ๔.  ศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอราบิก้า  แม่หลอด  อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่
                  ดำเนินการวิจัยหาสายพันธุ์กาแฟอราบิก้าที่ปลอดโรคราสนิม
ผลงานการวิจัย          ที่มูลนิธิโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้แก่เกษตรกรแล้ว  คือ
ผลไม้เมืองหนาว          :  บ๊วย  พลัม  ท้อ  สาลี่  พลับ  กีวี  สตรอเบอรี่  ฝรั่งคั้นน้ำ  และองุ่นไม่มีเมล็ด
ผักเมืองหนาว          :  ประมาณ  ๕๐  ชนิด  เช่น  เซเลอรี่  เทอร์นิพ  ผักกาดต่างๆ  ซุกินี  กระเทียมต้น  และหอม ญี่ปุ่น   เป็นต้น
ดอกไม้เมืองหนาว          :  ประมาณ  ๒๐  ชนิด  เช่น  เบญจมาศ  จิปโซฟิลล่า  เยอร์บีร่าพันธุ์ยุโรป  แกลดิโอลัส  ลิลี่   คาร์เนชั่นและอัลสโตรมีเรีย  เป็นต้น 
พืชไร่ต่างๆ          :  เช่น  มันฝรั่ง  ถั่วแดงหลวงลินิน  บัควีท  และข้าวสาลี  เป็นต้นอื่นๆ 
          :  กาแฟอราบิก้า  เห็ดหอม  และการวิจัยและพัฒนาดอกไม้แห้งเพื่อการค้า
งานพัฒนา ประกอบด้วยกลุ่มงานต่างๆ  ดังนี้
          ๑.  กลุ่มศูนย์พัฒนาโครงการหลวง
          มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขึ้น  จำนวน  ๓๔  แห่งเพื่อนำประโยชน์จากการวิจัยไปสู่ชาวเขา  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่  ๕  จังหวัด  ๒๐  อำเภอ  คือ
จังหวัดเชียงใหม่         ๑.๑  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  อ่างขาง  อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๒  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  อินทนนท์  อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๓  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  ปางดะ  อำเภอสะเมิง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๔  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  แม่หลอด  อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๕  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  ขุนวาง  กิ่งอำเภอแม่วาง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๖  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  แกน้อย  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๗  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  ห้วยลึก  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๘  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  หนองเขียว  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๙  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  แม่สาใหม่  อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๐  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  หนองหอย  อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๑  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  ป่าเมี่ยง  อำเภอดอยสะเก็ด  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๒  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  ตีนตก   กิ่งอำเภอแม่ออน  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๓  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ  กิ่งอำเภอแม่ออน  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๔  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ  อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๕  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก  กิ่งอำเภอแม่วาง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๖  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง  กิ่งอำเภอแม่วาง  อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๗  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ   กิ่งอำเภอแม่วาง  อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๘  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง  อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๑๙  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์  อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๒๐  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ  อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๒๑  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม  อำเภอแม่อาย  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๒๒  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง   อำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๒๓  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา   อำเภอสะเมิง  อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๒๔  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว  อำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๒๕  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยผักไผ่  อำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดเชียงราย         ๑.๒๖  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ   อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย
         ๑.๒๗  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง  อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย
         ๑.๒๘  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน  อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย
         ๑.๒๙  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง  อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย และอำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่
         ๑.๓๐  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น  อำเภอแม่สรวย  จังหวัดเชียงราย
จังหวัดลำพูน         ๑.๓๑  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม  อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน
จังหวัดแม่ฮ่องสอน         ๑.๓๒  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย  อำเภอแม่ลาน้อย  จังหวัดแม่ฮ่องสอน
         ๑.๓๓  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง  อำเภอแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน
จังหวัดพะเยา         ๑.๓๔  ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า  อำเภอปง  จังหวัดพะเยา
 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง  มีหน้าที่สำคัญ  คือ          -  ส่งเสริมให้เกษตรกรในหมู่บ้านใกล้เคียงมีรายได้จากการปลูกพืชชนิดต่างๆ  จากผลงานวิจัยรวมทั้งการเลี้ยงสัตว์และการประมงด้วย
          -  พัฒนาปัจจัยพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของชาวเขาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น
          -  สนับสนุนงานทดสอบ  สาธิต  วิจัย  และผลิตพันธุ์พืชและสัตว์
          -  อนุรักษ์  ฟื้นฟู  ทรัพยากรธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยกำหนดขอบเขตอย่างแน่ชัดว่าที่ใดควรเป็นป่า  และที่ใดควรใช้เพาะปลูกและการปลูกป่าจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของไม้สำหรับพื้นที่การเกษตรได้พิจารณาถึงปัจจัยประการสำคัญคือ  ความลาดชันหน้าดิน  และน้ำชลประทานโดยดำเนินงานบริรักษ์ที่ดินเพื่อกันหน้าดินทลายด้วยการทำขั้นบันได  ทางระบายน้ำตามแนวระดับหรือปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับ  เป็นต้น
๒. กลุ่มงานอารักขาพืช         มูลนิธิโครงการหลวงมีนโยบายไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช  กรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ  เท่านั้นจึงจะใช้  และดังนั้น  จึงมีงานป้องกันและกำจัดศัตรูพืชพร้อมทั้งห้องปฏิบัติการเพื่อควบคุมการใช้สารเคมีที่นำมาใช้งานสำคัญก็คือ  การส่งเจ้าหน้าที่ด้านแมลงและโรคพืชไปตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ  เสมอ  เมื่อศูนย์ฯ  ใดประสบปัญหาก็จะส่งตัวอย่างพืชที่มีปัญหานั้นให้กับเจ้าหน้าที่ของงานป้องกันและกำจัดศัตรูพืช  เพื่อให้ได้รับคำแนะนำและวิธีการกำจัดรักษาที่ถูกต้องหากจำเป็นต้องใช้สารเคมี  เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมให้มีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและระมัดระวัง
๓. กลุ่มงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิต  มีหน้าที่สำคัญคือ
         -  พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด
         -  กำหนดเป้าหมายวางแผนประมาณการ  ติดตามและประเมินผลการผลิต
         -  สนับสนุนและประสานความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ  เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและฝ่ายต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง
         -  จัดทำแผนงาน  งบประมาณ  และรายงานผลการดำเนินงานประจำปีต่อคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนา
๔. กลุ่มงานพัฒนาการศึกษาและสังคม  สาธารณสุข
         ได้ดำเนินงานพัฒนาสังคมของชาวเขาที่เกี่ยวกับเด็ก  แม่บ้าน  พ่อบ้าน  และชุมชนชาวเขา  ด้านต่างๆ  โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนรวมทั้งชาวเขาเองดังนี้
         -  งานพัฒนาการศึกษาและสังคม  เพื่อให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้มาตรฐานทางด้านการศึกษาด้วยการจัดตั้งโรงเรียน  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  บริการห้องสมุดเคลื่อนที่  จัดตั้งห้องสมุดโรงเรียนเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่าน  และจัดทำโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนต่างๆ  นอกจากนั้นยังมีการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำ  และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพแก่เยาวชน  สตรี  และกลุ่มแม่บ้าน  เช่น  การทอผ้าแบบดั้งเดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่  ตลอดจนการทอผ้าลินิน  เป็นต้น
         -  งานพัฒนาสาธารณสุข  จะมีอาสาสมัครซึ่งเป็นแพทย์  พยาบาล  ทันตแพทย์และเภสัชกร  จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปเยี่ยมเยียนให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นและการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานอย่างสม่ำเสมอ
          นอกจากนี้  ได้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด  โดยใช้รูปแบบการบำบัดโดยชุมชนให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากที่สุด  โดยผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านควบคู่กับการดำเนินการของรัฐและเอกชน  เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและส่งผลสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
งานการตลาด

          จัดให้มีขึ้นเพื่อดำเนินงานสำหรับงานวิจัยหลังการเก็บเกี่ยว  งานขนส่ง  งานคัดบรรจุ  งานวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตของเกษตรกร  และงานวิจัยด้านการตลาด
         งานวิจัยหลังการเก็บเกี่ยว  นับเป็นเรื่องสำคัญ  ทั้งนี้เพื่อให้ผลผลิตเพื่อการส่งออกมีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ  มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้มีห้องเย็นพิเศษบนดอยที่สามารถลดอุณหภูมิของผักลง  ๓  องศาเซลเซียสภายใน  ๓  ชั่วโมง
          การขนส่งผลผลิตต่างๆ  โดยใช้ห้องเย็นเพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ดีอยู่เสมอและมีหน่วยงานคัดบรรจุที่ทำหน้าที่เพื่อควบคุมคุณภาพ  ทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ 
          งานคัดบรรจุ  งานวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์  มูลนิธิโครงการหลวงมีโรงงานอาหารสำเร็จรูป  จำนวน ๓  แห่ง  เพื่อรองรับผลผลิตและแปรรูปให้มีค่าสูงยิ่งขึ้น  คือ
         -  โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
         -  โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป  อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่
         -  โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป  อำเภอแม่จัน  จังหวัดเชียงราย
         งานวิจัยด้านการตลาดของผลผลิตชนิดต่างๆ  ของเกษตรกร  ได้มีการจำหน่ายผลผลิตออกสู่ตลาดและขายได้ในราคาที่เหมาะสม  โดยมูลนิธิโครงการหลวง  คิดค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมของราคาขายแต่ละครั้ง  ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวง  มีหน่วยการตลาดทั้งที่กรุงเทพฯ  และเชียงใหม่  ภายใต้ชื่อจดทะเบียนการค้าว่า  “ดอยคำ”



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น